ตำนานธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ในวันเพ็ญเดือน ๘ (อาสาฬหบูชา) ก่อนพุทธศักราช ๒๕๐๐ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ แก่นักบวชปัญจวัคคีย์ (นักบวช ๕ รูป) ท่านอัญญาโกณฑัญญะให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้กราบทูลขออุปสมบทต่อพระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทาน”เอหิภิกขุอุปสัมปทา** “เป็นสงฆ์สาวกองค์แรก ในพระพุทธศาสนา แล้วประทับจำพรรษาแรก ณ.ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้นเอง (ในการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกนี้ มีพรหม ๑๘ โกฏิ กับเทวดาจำนวนมากที่ได้บรรลุธรรมด้วยพระสูตรนี้)

    พระพุทธองค์ทรงคัดค้านการปฏิบัติที่ทรมานตนให้ลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) และการเสพกามสุข (กามสุขัลลิกานุโยค) ทรงชี้แนะทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ และทรงจำแนกอริยสัจ ๔ ไว้โดยละเอียดในพระสูตรนี้

    “อัตตกิลมถานุโยค” เป็นคำสอนของ นิครนถ์นาฏบุตร ผู้ก่อตั้งศาสนาเชนในปัจจุบัน โดยศาสนานั้นเชื่อว่า การบำเพ็ญตบะทรมานตน เป็นวิธีปลดเปลื้องวิญญาณจากกรรมเก่า คือ เมื่อกรรมเก่าถูกปลดเปลื้อง ด้วยการบำเพ็ญตบะแล้ว ก็จะหมดสิ้นไป ไม่ส่งผลให้เวียนว่ายตาย เกิดอีก ส่วน”กามสุขัลลิกานุโยค” เป็นความเห็นของคนที่เชื่อว่า นิพพาน คือกามสุขในปัจจุบัน เมื่อสัตว์ตายแล้วก็ดับสูญ ความเห็นนี้นับเนื่องในมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ เรียกว่า “ทิฏฐธัมมนิพพาน” (นิพพานในปัจจุบันชาติ) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ลักธิจารวาก”นั่นเอง ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ ย่อมจะชอบเสพกามสุข ทางประสาทสัมผัสอย่างเดียว ไม่สนใจการอบรมจิตเจริญปัญญา เพื่อความพ้นทุกข์ จากการเวียนตาย เวียนเกิด เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา เพราะประสงค์จะทดลองแนวทางนี้ว่า เป็นทางตรัสรู้หรือไม่ มิใช่ทรงปฏิบัติเพื่อปลดเปลื้องกรรมเก่า ตามคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตร และเมื่อพระองค์ทรงพบว่ามิใช่ทางตรัสรู้ จึงระลึกถึงการเจริญอานาปานกรรมฐานใต้ต้นหว้าในพิธีแรกนาขวัญ ครั้นทรงเจริญกรรมฐานนั้น จนบรรลุฌาณ ๔ แล้ว ทรงอาศัยฌาณเป็นบาท เจริญวิปัสสนาจึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้

    คำว่า “ธรรมจักร” มีความหมายว่า “กงล้อ คือ พระธรรม” ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงประกาศศาสนาพุทธว่าเป็น”อเทวนิยม” ที่ไม่เชื่อการเนรมิตรของพระเจ้า ด้วยการตรัสรู้เหตุแห่งทุกข์(สมุทัยสัจ)ว่า คือ ตัณหา ทั้งปฏิเสธอาตมัน(ตัวตน) หรือวิญญาณ ด้วยการตรัสทุกขสัจว่า คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ทรงแสดงแนวทางแห่งความพ้นทุกข์(มรรคสัจ) คือ มรรคมีองค์ ๘ และตรัสผลของการปฏิบัติ(นิโรธสัจ)ว่า คือ ความดับตัณหา ในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต หน้า ๒๕๗ กล่าวว่า ปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมชั้นโสดาบัน วันละหนึ่งท่านตามลำดับคือ ในวันแรม ๑ ค่ำ ท่านวัปปะ, ในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านภัททิยะ, ในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านมหานามะ, ในวันแรม ๔ ค่ำ ท่านอัสสชิ, ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ พระศาสดาทรงแสดง “อนัตตลักขณสูตร” พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมด ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

    (“เอหิภิกขุอุปสัมปทา** ” คือ การอุปสมบทด้วยพระวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยพระองค์ได้ตรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวมาดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” หลังจากที่พระองค์ตรัสธรรมนี้จบ บาตรและจีวรได้ลอยมาทางอากาศห่มร่างของพระอัญญาโกณฑัญญะ ด้วยบุญญานุภาพที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้สั่งสมไว้ในอดีต)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *