สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึงความเหมาะสมในกรรมฐานต่างๆ ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้นว่า เมื่อใดอารมณ์จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใด ก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกันเข้าพิจารณาหรือภาวนาแก้ไข เพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป กรรมฐาน 40 กองที่ท่านได้จำแนกไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตมีดังนี้
1. ราคะจริต กรรมฐานที่เหมาะคือ อสุภกรรมฐาน 10 กับกายคตนานุสสติ 1 เมื่ออารมณ์รักสวยรักงามเกิดขึ้นแก่อารมณ์จิต จิตข้องอยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์ เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุที่ชมชอบว่าสวยงดงามกลายเป็นของน่าเกลียดโสโครกโดยกฎของธรรมดา จนจิตใจไม่มั่วสุมกับความงามแล้ว ก็พิจารณาวิปัสสนาญาณโดยยกเอาขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา
2. โทสะจริต ท่านให้เอาพรหมวิหาร 4 วัณณกสิณ 4 (นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว) ทั้ง 8 อย่างนี้เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ
3. โมหะ และ วิตกจริต อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลง และครุ่นคิดตัดสินใจไม่ค่อยได้นั้น ท่านให้เจริญอานาปานานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว
4. สัทธาจริต ท่านให้เจริญอนุสสติ 6 ประการ คือ
1. พุทธานุสสติกรรมฐาน
2. ธัมมานุสสติกรรมฐาน
3. สังฆานุสสติกรรมฐาน
4. สีลานุสสติกรรมฐาน
5. จาคานุสสติกรรมฐาน
6. เทวตานุสสติกรรมฐาน
5. พุทธิจริต คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ มีปฏิภาณไหวพริบดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน 4 อย่าง
1. มรณานุสสติกรรมฐาน
2. อุปมานุสสติกรรมฐาน
3. อาหาเรปฏิกูลสัญญา
4. จตุธาตุววัฏฐาน
ที่เหลืออีก 10 กอง คือ อรูป 4 ภูตกสิณ 4 (ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ) และอาโลกกสิณ 1 อากาสกสิณ 1 เป็นกรรมฐานเหมาะแก่จริตทุกอย่าง แต่สำหรับอรูปนั้น ถ้าใครต้องการเจริญ ท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ฌาน 4 เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นผลสำหรับผู้ฝึกสมาธิใหม่ เพราะอรูปละเอียดเกินไป