เข้มแข็งอดทนไม่เป็นคนอ่อนแอ
ถ้าปฏิบัติตามได้จะเกิดประโยชน์อย่างไร?”
มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งแปลเป็นไทยว่า “ผู้ใดในยามลำบาก อดทนต่อความลำบากได้ ไม่หลีกเลี่ยงความลำบาก ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา ย่อมได้รับความสุขอันเกิดแต่การประกอบ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งความลำบาก” ดังนี้
ใจความในพระพุทธภาษิตนี้ แบ่งออกเป็น ส่วนเหตุกับส่วนผล ข้อที่สอนให้รู้จักอดทนต่อความลำบาก และรู้จักแก้ไขฝ่าฟันความลำบากนั้น ๆ ไม่หลีกเลี่ยง จัดเป็นส่วนเหตุ ข้อที่แสดงว่าเมื่อทำได้เช่นนั้นแล้ว ย่อมได้รับความสุขอันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก จัดเป็นส่วนผล
มีคนเป็นอันมาก อยากประสบผลโดยไม่ใส่ใจประกอบเหตุ เช่นอยากพ้นความลำบากด้วยการบ่น หรือนั่งนอนคอยให้ความลำบากนั้น ๆ หมดไปเองไม่คิดแก้ไขบ้าง หรือบางคนคิดแก้ไข แต่พอใจจะแก้ด้วยวิธีที่ง่าย และสะดวกสบายเช่น บนบานอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปัดเป่าให้พ้นความลำบากนั้นเป็นต้นบ้างการไม่คิดแก้ไขเฝ้าแต่บ่นจะให้ความลำบากสิ้นไปเอง หรือการคิดแก้ไข แต่แก้ไม่ถูกแก่เหตุดังกล่าวมานี้ หาได้สำเร็จประโยชน์ไม่ พระพุทธศาสนาถือเหตุผลเป็นสำคัญเมื่อวางหลักธรรมสำหรับประชุมชนจะฟังทำความเข้าใจ และปฏิบัติ จึงสั่งสอนไปในเหตุผลให้บุคคลละทิ้งนิสัยมักง่าย และงมงาย
ความต้องการให้ความลำบาก หรือสิ่งที่ไม่ประสงค์นั้น ๆ สิ้นไปโดยอยู่เฉย ๆ ไม่แก้ไข หรือแก้ไขด้วยการอ้อนวอนบ่นว่าเป็นต้น จัดเข้าในลักษณะงมงายเห็นแก่ง่ายเป็นประมาณ