สงเคราะห์วัด

การประเคนของพระ คือการถวายสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่พระภิกษุรับเรียกว่าประเคนสิ่งของ เราควรทำความเข้าใจให้รู้ก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมและถูกต้องดี ในการประเคนของนั้นขนาดและน้ำหนักของสิ่งที่จะประเคนนั้น ควรจะเป็นสิ่งของพอบุรุษมีกำลังยกคนเดียวได้ หรือไม่หนักเกินไป เพื่อจะยกประเคนได้สะดวกและพระก็รับประเคนได้สะดวกเช่นกัน ถ้าเป็นของใหญ่เกินกว่าที่จะยกได้ เช่น เรือ รถ หรือกุฎีก็ไม่ต้องยกเพียบกล่าวคำถวายหรือถวายเอกสารประกอบสิ่งของนั้นก็พอแล้ว 

อาหารที่ต้องห้ามสำหรับพระภิกษุสงฆ์   

เป็นอาหารที่ไม่ควรแก่สมณะบริโภคได้แก่ เนื้อ ๑๐ ชนิด และอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อ ๑๐ ชนิด ดังนี้

๑. เนื้อมนุษย์รวมถึงเลือดมนุษย์ด้วย        

   ๒. เนื้อช้าง                    

    ๓. เนื้อม้า                      

    ๔. เนื้อสุนัข                    

    ๕. เนื้องู

๖. เนื้อราชสีห์(สิงโต)

๗. เนื้อเสือโคร่ง

๘. เนื้อเสือเหลือง

๙. เนื้อหมี

๑๐.เนื้อเสือดาว

ส่วนเนื้อสัตว์นอกเหนือจากนี้ถ้าเป็นเนื้อที่ยังดิบ(ยังไม่สุกด้วยความร้อนจากไฟ) ทรงห้ามฉันถ้าสุกแล้วอนุญาตให้ฉันได้ และเนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจงทำถวายพระภิกษุสามเณร ถ้าพระภิกษุไม่ได้เห็นการฆ่านั้น ไม่ได้ยินมาก่อนว่าฆ่าเจาะจง ไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเป็นของเฉพาะเจาะจงแก่ตนก็ขบฉันได้ไม่มีโทษ

ข้อพิจารณาเพิ่มเติมในการเรื่องของถวายที่เป็นอาหารหรือน้ำปานะ โดยสามารถแบ่งตามกาล (เวลา) ได้ดังนี้

    (1) ยาวกาลิก  คือของที่รับและฉันได้ระหว่างเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น คือพวกอาหารหนักประจำมื้อ ได้แก่ข้าวปลาอาหารทั้งหลาย เนื้อ นม ปลา ผลไม้ ธัญญพืช ขนม ดังนั้น เครื่องดื่มที่ทำมาจาก เมล็ดพืชต่างๆ เช่น ธัญญพืช ถั่วเหลือง เมล็ดงา จึงไม่สามารถฉันได้หลังเทียง ผู้ใดถวายสังฆทานและมีเครื่องดื่ม ดังกล่าว หากถวายหลังเที่ยงก็ควรเอาออกเสีย

    (2) ยามกาลิก  รับไว้ได้ฉันชั่ววันเดียวคืนเดียว เมื่อถึงรุ่งเช้าอีกวันไม่อาจฉันได้อีก ต้องสละให้ผู้อื่น(ที่ไม่ใช่พระ) ได้แก่พวกน้ำปานะต่างๆ คือน้ำผลไม้คั้นต่างๆ แต่หากท่านสละออกไปแล้ว โยมหรือผู้ดูแลสามารถจัดถวายให้ท่านดื่มได้ใหม่ แต่ว่าพระไม่สามารถเก็บน้ำปานะไว้มากกว่าหนึ่งคืน

    น้ำผลไม้ที่ฉันหลังเที่ยงนั้นต้องเป็นน้ำผลไม้ที่มีลูกไม่ใหญ่กว่าผลส้ม และต้องกรองกากออกให้หมดก่อน น้ำแครรอท จัดเป็นผักและเป็นพวกหัว ก็ไม่สามารถดื่มได้เช่นกัน บางคนบอกว่า เอาแตงโมไปปั่น เป็นน้ำแตงโม พระฉันไม่ได้ ก็ให้ดูว่าเราปั่นเนื้อแตงโม และผลของแตงโมก็ใหญ่กว่าผลส้ม ส่วนน้ำส้มที่ขายบรรจุกล่อง ซึ่งมีกากอยู่ด้วยก็ไม่ควรถวายพระหลังเที่ยง เลือกเป็นประเภทไม่มีกากโดยดูจากกล่องที่เขียนไว้ หากมีกากก็ควรงดเสีย

    (3) สัตตาหากาลิก   ของที่รับแล้วสามารถเก็บไว้ค่อยๆทะยอยฉันได้ในช่วงระยะ 7 วัน ถ้าเกิน 7 วัน ต้องเสียสละให้ผู้อื่น ได้แก่ เนยข้น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ช๊อคโกแลตต้องเป็นชนิดที่ไม่มีนม เพราะช๊อคโกแลตทำมาจาก โกโก้

    (4) ยาวชีวิก   รับไว้แล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดไป ได้แก่ยารักษาโรคทุกประเภท

    ดังนั้นการพิจารณาว่าเป็นอาหารหรือไม่ ไม่เพียงดูที่การเคี้ยว แต่ให้ดูจากประเภทของถวาย อย่างเช่น โจ๊กก็ไม่ต้องเคี้ยว แต่ว่าเป็นจำพวกข้าว จีงถือเป็นอาหาร ต้องไตร่ตรองก่อนถวาย คนที่ถวายก็จะได้บุญจากการหาของปราณีตมาถวายพระ และเราเองก็ไม่ทำให้พระต้องอาบัติและผิดวินัย 

    สิ่งของที่ทรงห้ามมิให้ภิกษุจับต้อง ทรงเรียกสิ่งของดังกล่าวว่า วัตถุอนามาส จึงไม่นิยมนำไปประเคนถวายพระภิกษุมีดังต่อไปนี้

  • ผู้หญิง รวมทั้งเครื่องแต่งกายหญิง รูปภาพหญิง รูปปั้นหญิงทุกชนิด
  • รัตนะ ๑๐ ประการ คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์(ที่เลี่ยมทอง) ศิลา เช่น หยก และโมรา เป็นต้น
  • เครื่องศัตราวุธทุกชนิดอันเป็นเครื่องทำลายชีวิต
  • เครื่องดักสัตว์บก สัตว์น้ำทุกชนิด
  • เครื่องประโคมดนตรีทุกอย่าง
  • ข้าวเปลือก และผลไม้ที่เกิดอยู่กับที่

วิธีประเคนพึงปฏิบัติ ดังนี้

    เมื่อทายกจัดเตรียมสิ่งของเหล่านั้นเสร็จแล้วพระก็นั่งเรียบร้อยดี เราก็ถือสิ่งของเหล่านั้นเข้าไปใกล้พระให้ได้หัตถบาส คือให้ห่างกันประมาณ 1 ศอกคืบ หรือ 2 ศอก พอเหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ ด้วย แล้วยกของนั้นประเคนพระภิกษุ ให้สูงพอแมวลอดได้ พระภิกษุก็น้อมรับสิ่งของที่โยมถวายแก่ตนด้วยความเคารพเช่นกัน

    สำหรับชาย  พึงนั่งคุกเข่าหรือยืนตามความเหมาะสมแก่สถานที่ ยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสองข้าง น้อมสิ่งของนั้นเข้าไปใกล้พระภิกษุผู้รับประเคนยกของให้พ้นจากพื้น ส่งถวายถึงมือพระผู้รับประเคน เมื่อถวายเสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบทุกครั้ง  การรับประเคนสิ่งของนั้น ถ้าโยมยกของถวาย 2 มือ พระก็ต้องรับของ 2 มือ ถ้าโยมยกของถวายมือเดียว พระก็รับของมือเดียวเช่นกัน ถือว่าถูกต้องในการประเคนสิ่งของสำหรับโยมผู้ชาย   

    สำหรับหญิง พึงยืนหรือนั่งพับเพียบตามความเหมาะสมแก่สถานที่ โยมผู้หญิง ประเคนสิ่งของแก่พระภิกษุนั้น ก็ควรจะนั่งห่างจากพระภิกษุประมาณ 2 ศอก หรือให้เหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ  แล้วยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสอง น้อมเข้าไปใกล้พระภิกษุผู้รับประเคนพอสมควร วางบนผ้าที่พระภิกษุทอดรับประเคนนั้น จะส่งถวายให้ถึงมือพระภิกษุแบบผู้ชายไม่ได้ และระวังรอให้พระภิกษุจับชายผ้าที่ทอดรับประเคนนั้นเสียก่อน แล้วจึงวางของที่จะประเคนลงบนผ้าผืนนั้น เมื่อถวายเสร็จแล้วพึงไหว้ หรือกราบทุกครั้ง 

    พระภิกษุเมื่อจะรับประเคนสิ่งของจากโยมผู้หญิงนั้น  ถ้าโยมยกของถวาย 2 มือ พระก็ต้องจับผ้า 2 มือ ถ้าโยมยกของถวายมือเดียว พระก็จับผ้ามือเดียว เช่นกันด้วยความเคารพในสิ่งของที่ตนบริจาคทานด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย จึงเรียกว่าเป็นการประเคนสิ่งของให้พระภิกษุอย่างถูกต้อง และแลดูสวยงามเหมาะสมในทางพระพุทธศาสนา

ข้อพึงระวังของการประเคน คือ สิ่งของที่ประเคนแล้วนั้นห้ามฆราวาสไปจับต้อง หากไปจับต้องถือว่าเป็นการขาดประเคน ต้องประเคนของนั้นใหม่ จึงจะไม่เกิดโทษแก่สงฆ์ 

ประวัติความเป็นมาของการประเคน

        ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ประเคน คือ อะไร? ประเคน คือ มอบถวายแก่พระภิกษุ ประวัติความเป็นมาของการประเคน คือ พระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มีปกติประพฤติถือเอาทุกอย่างเหมือนผ้าบังสุกุล(ผ้าเปื้อนฝุ่น) คือ ไม่มีความประสงค์ที่จะรับอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย มีแต่แสวงหาอาหารเครื่่องเซ่นเจ้าที่ชาวบ้านเอาไปวางไว้ที่ป่าช้าบ้าง ที่โคนต้นไม้ บ้าง ที่ธรณีประตูบ้าง มาฉันเอง เหมือนกับการแสวงหาผ้าบังสุกุล ชาวบ้านเห็นเข้า ก็กล่าวติเตียน พระภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนนั้น จึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ พระองค์ทรงตรัสถามความประพฤติเป็นไปดังกล่าวนั้น กับภิกษุรูปนั้น ทรงติเตียนว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสแห่งชนผู้ยังไม่เลื่อมใส เป็นต้น จึงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทว่า ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เป็นปาจิตตีย์ [ต่อมาทรงบัญญัติเพิ่มเติม ว่า ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เป็นปาจิตตีย์ ยกเว้นน้ำ และไม้สีฟัน] นี้คือ ประวัติความเป็นมาของการบัญบัติสิกขาบทไม่ให้พระภิกษุฉันอาหารที่ยังไม่ได้รับประเคนจากชาวบ้าน สิกขาบทดังกล่าวนี้ เป็นสิกขาบทที่เป็นไปเพื่อการขัดเกลา เพื่อสำรวมระวังให้ไม่เป็นผู้หยิบฉวยของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้้องได้รับจากมือของผู้อื่นซึ่งเป็นผู้มอบให้ ซึ่งก็คือ การประเคน

    สำหรับคฤหัสถ์ถ้าได้เข้าใจถึงการประเคนอย่างถูกต้อง ย่อมเป็นการดีสำหรับคฤหัสถ์ผู้ถวายที่จะกระทำการประเคนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการได้ศึกษาพระวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องนั่นเอง

ลักษณะของการประเคน ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ โดยสรุปจากพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๒ – หน้าที่ ๕๖๒

  • เป็นวัตถุสิ่งของที่บุรุษผู้มีกำลังปานกลางพอจะยกได้
  • หัตถบาสปรากฏ คือ เขาอยู่ในหัตถบาส(บ่วงมือ) ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ อันแสดงถึงการให้ที่ถูกต้อง คือนับจากด้านหลังของพระภิกษุและด้านหน้าของผู้ประเคน ประมาณ ๒ ศอกกับอีกหนึ่งคืบ ทั้งผู้ให้และผู้รับต้องอยู่ในหัตถบาส
  • เขาน้อมเข้ามาถวาย
  • มีบุคคลผู้ถวาย
  • พระภิกษุรับประเคนสิ่งของนั้น ด้วยกาย หรือ ด้วยของที่เนื่องด้วยกาย

  การประเคน ย่อมใช้ได้ ด้วยองค์ ๕ ประการ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

  ประเด็นที่จะได้ศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม คือ

    ๑. การนำภาชนะมาต่อกันแล้วยกประเคนเพียงชามเดียวได้หรือไม่

    คำตอบ คือ ไม่ได้ การประเคนอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ต้องยกถวายทีละชาม แต่ถ้าวางอาหารหลาย ๆ ชามลงในถาด แล้วยกถวายทั้งถาด อย่างนี้ถูกต้อง 

    ๒. ถ้าถวายอาหารที่อยู่บนโต๊ะจีน ด้วยการประเคนทั้งโต๊ะเลย ได้หรือไม่?

    คำตอบ คือ ไม่ได้ การกระทำอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง เพราะโต๊ะจีนที่เต็มไปด้วยอาหารไม่ใช่สิ่งของที่บุรุษผู้มีกำลังปานกลางพอจะยกได้ 

    ๓. ถ้าถวายอาหารให้กับพระภิกษุรูปหนึ่ง แล้วพระภิกษุรูปนั้น ยกอาหารส่งต่อให้พระภิกษุรูปต่อ ๆ ไป ได้หรือไม่

    คำตอบ คือ ได้ เพราะมีการประเคนอย่างถูกต้องแล้ว ไม่ได้มีการหยิบฉวยโดยไม่ได้มีผู้ถวาย, มีพระภิกษุผู้รับประเคนเพียงรูปเดียว ก็สามารถแบ่งให้รูปอื่น ๆ ฉันได้ จะฉันกี่รูปก็ได้

    ต้นเหตุของการบัญญัติเรื่องการประเคน [โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑๐]

ที่มา:                                    

1) กระทู้จากเว็บลานธรรม http://tinyurl.com/6vlxjpx        
2) http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=20396
4) กระทู้จากเว็บกัลยาณธรรม http://www.kanlayanatam.com/sara/sara57.htm