หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ


หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
วัดถ้ำศรีแก้ว บ้านภูพานทอง
ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร”



ชาติภูมิ

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ มีชาติกำเนิดในสกุล “ทองศรี” ท่านมีนามเดิมว่า “สุวัจน์” เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2462 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม ณ ตำบลตากูก อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โยมบิดาชื่อ “บุตร” โยมมารดาชื่อ “กึ่ง” ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน โดยมีพี่ชาย 2 คน และน้องสาว 2 คน

วัยเด็กและการศึกษา

เมื่ออายุถึงเกณฑ์ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก จนจบชั้นประถมบริบูรณ์ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น และท่านได้อยู่ช่วยงานด้านเกษตรกรรมร่วมกับบิดามารดา และพี่ ๆ น้อง ๆ นอกจากนั้น ท่านได้มีโอกาสเรียนวิชาชีพกับช่างทองจนมีความรู้พอประกอบอาชีพได้

สู่เพศพรหมจรรย์

ด้วยจิตใจที่ฝักใฝ่ทางธรรมและรักในเพศบรรพชิตมาตั้งแต่เป็นเด็ก ดังนั้นในปี พ.ศ. 2481 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ 19 ปี ท่านก็ได้ขออนุญาตบิดามารดา เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร โดยเข้าพิธีบรรพชา ณ วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก นั้นเอง ท่านได้ตั้งใจศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม จนเมื่ออายุใกล้ครบบวช ซึ่งแม้ว่าการปฏิบัติธรรมของท่านในช่วงที่เป็นสามเณรอยู่นี้จะไม่นานนัก แต่ความศรัทธาต่อศาสนธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้หยั่งลงลึกในจิตใจท่าน และเพียงพอที่จะเกิดเป็นปณิธานภายในใจท่านว่า อย่างไรเสียท่านต้องอุปสมบท เพื่อประพฤติธรรมในสมณเพศนี้สืบไป ดังนั้นท่านจึงได้ของอนุญาตโยมบิดามารดาเพื่ออุปสมบท ซึ่งท่านทั้งสองก็ไม่ขัดข้องอย่างไรก็ดี ตอนนั้นเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าวพอดี ประกอบกับเพื่อจะได้จัดการในเรื่องต่าง ๆ ก่อนที่จะอุปสมบท ท่านจึงได้ลาสิกขาบทจากสามเณรเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน

ในปี พ.ศ. 2482 หลังจากที่ท่านได้จัดการเรื่องต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับท่านมีอายุครบ 20 ปีท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท อยู่ในภิกษุภาวะสมความตั้งใจ ณ วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ซึ่งเป็นวัดมหานิกายที่ท่านเคยบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้รับฉายาว่า “สุวโจ” โดยมี พระครูธรรมทัศน์พิมล (ด้น) เจ้าอาวาสวัดศาลาลอย (เมื่อครั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เคลือบ วัดดาวรุ่ง บ้านขาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์พระอาจารย์อุเทน วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ในพรรษาแรกนั้นเอง ได้มีชาวบ้านบุแกรง อำเภอท่าตูม (ปัจจุบันคืออำเภอจอมพระ) จังหวัดสุรินทร์ พากันมาอาราธนาท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุแกรง ซึ่งเป็นวัดร้าง ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ต่อมาด้วยเห็นว่า หากจะอยู่ทำประโยชน์ไว้ในพระบวรพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จำเป็นที่ท่านต้องศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2483 หลังออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนสอบได้นักธรรมชั้นตรีและโทในปี พ.ศ. 2483 และ 2484 ตามลำดับ

ญัตติเป็นพระธรรมยุต

ในปี พ.ศ. 2484 ภายหลังที่ท่านสอบได้นักธรรมโทแล้ว เกิดมีศรัทธาหนักไปทางปฏิบัติจิตตภาวนา ดังนั้นท่านจึงได้ญัตติใหม่ในธรรมยุติกนิกาย ณ วัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทองดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จากนั้น ท่านได้กลับไปจำพรรษา ณ วัดป่าศรัทธารวม เป็นเวลา 2 พรรษา ก่อนที่จะเริ่มต้นการเดินธุดงค์ในปี พ.ศ. 2486

ประวัติการอยู่จำพรรษา

พ.ศ. 2486 วัดป่าพระสถิต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. 2487 วัดโยธาประสิทธิ บ้านห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์ (ในพรรษานี้ ท่านได้จำพรรษา ร่วมกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ประกอบกับได้ดูแลโยมบิดามารดา ซึ่งกำลังป่วยอยู่)

พ.ศ. 2484 วัดป่าศรีไพรวัน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ ข้ามเขาภูพาน ไปวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พ.ศ. 2489-2492 หลวงปู่มั่น ท่านพิจารณาเห็นว่าท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรเป็นลูกศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ แต่ยังไม่มีผู้ดูแลอุปัฏฐากจึงมอบหมายให้ท่านอาจารย์สุวัจน์ไปเป็นพระอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ฝั้น ในระยะเวลา 4 ปีนี้ ณ วัดป่าภูธรพิทักษ์ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยในช่วงเวลาออกพรรษาของแต่ละปี ท่านอาจารย์สุวัจน์จะลาท่านพระอาจารย์ฝั้นไปศึกษาธรรม และอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2493 วัดเทพกัลยาราม บ้านน้อยจอมศรี อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2494 วัดป่าพระสถิต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. 2495 สำนักสงฆ์ควนเขาดิน อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา

พ.ศ. 2496 วัดเจริญสมณกิจ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2497 วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2498 วัดป่าปราสาทจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

พ.ศ. 2499 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2500-2501 วัดป่าปราสาทจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

พ.ศ. 2502 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2503 วัดป่าบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2504 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2505 สำนักสงฆ์ถ้ำขาม ตำบลบ้านไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2506 วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2507 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2508 วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2509-2514 วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2515-2524 สำนักสงฆ์ถ้ำศรีแก้ว ตำบลสร้างค้อ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2525-2526 สำนักสงฆ์ (ชั่วคราว) เมืองซีแอตเติ้ล มลรัฐวอชิงตัน

พ.ศ. 2527 สำนักสงฆ์ (ชั่วคราว) เมืองแอนนาไฮม์ฮิล มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2528 สำนักสงฆ์ป่าธรรมชาติ เมืองลาพวนเต้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2529 สำนักสงฆ์นอร์ธแซนฮวน เมืองซาคราเมนโต้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2530-2533 วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2534 วัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2535 วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2536-2538 วัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2539 วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์

พ.ศ. 2540 วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2541-2545 วัดป่าเขาน้อย ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

การรับแต่งตั้งให้ปฏิบัติศาสนกิจ และการรับสมณศักดิ์

1. ตามหนังสือที่ 26/2529 ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2529 ท่านได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ให้เป็นพระอุปัชฌาย์

2. ตามหนังสือที่ 9/2529 ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2529 ท่านได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ให้เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุตในประเทศสหรัฐอเมริกา

3. วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระครูปลัดสุวัฒนญาณคุณ”

4. วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระโพธิธรรมจารย์เถร”

การปฏิบัติศาสนกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา

นับแต่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตจากคณะสงฆ์ไทย ในปี พ.ศ. 2525 เพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านได้ปฏิบัติศาสกิจนี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในบางครั้งท่านต้องเดินทางไปแสดงธรรมอบรมจิตภาวนาตามสมาคมทางพระพุทธศาสนา ที่เขามีจิตศรัทธานิมนมา และท่านยังได้สร้างวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนตาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย และวัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างของวัดกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

สูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทร

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2539 หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นเหตุทำให้องค์ท่านต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเวลานาน และเดินไม่ได้ รวมทั้งองค์หลวงปู่ท่านมีปัญหาเรื่องปอดไม่แข็งแรงมานานแล้วในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา องค์หลวงปู่ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคปอดติดเชื้อมาตลอด (ประมาณ 4-5 ครั้ง)ครั้งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขารนี้ องค์หลวงปู่เข้ามารักษาองค์ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธและหัวใจท่านได้หยุดเต้นไปแต่เป็นบุญที่คณะแพทย์และพยาบาลได้ถวายการรักษาได้ทันท่วงทีจึงสามารถช่วยท่านไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษาองค์หลวงปู่มักจะปรารถอยู่เนือง ๆ ว่าท่านอยากกลับไปวัดจนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม องค์หลวงปู่แข็งแรงขึ้นมากและแพทย์เห็นสมควรให้ท่านเดินทางกลับบุรีรัมย์ได้

หลวงปู่ท่านสดใสมาก เมื่อได้กลับไปที่วัดป่าเขาน้อยอาการท่านก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แข็งแรงมากพอที่จะไปโปรดญาติโยมที่วัดป่าปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ได้หลวงปู่เมตตาพำนักที่วัดป่าปราสาทจอมพระและแสดงธรรมโปรดญาติโยมประมาณ 1 อาทิตย์คือช่วงวันที่ 13 มี.ค. ถึง 20 มี.ค. จึงได้กลับเดินทางกลับวัดป่าเขาน้อย

หลังจากที่หลวงปู่ท่านเดินทางกลับมาพำนักที่เขาน้อยได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียมาก จนต้องพาท่านเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์หลังจากที่ท่านได้เข้าไปรักษาตัวได้ 2 วัน อาการดีขึ้นมากแพทย์ที่ถวายการรักษา ขอดูอาการ ซึ่งหากไม่ทรุดลงไปก็จะอนุญาตให้กลับวัดได้แต่แล้ว…อาการของหลวงปู่ ก็เริ่มทรุดลงเมื่อวันที่ 2 เม.ย.และอาการหนักในคืนวันที่ 3 เม.ย.เนื่องจากโรคปอดติดเชื้อที่แทรกซ้อนขึ้นมาเช้าวันที่ 5 เป็นวันที่ศิษยานุศิษย์ใกล้ชิดและแพทย์ต้องตัดสินใจแพทย์แนะนำให้เจาะคอองค์หลวงปู่แต่เมื่อประชุมกันแล้ว ลงความเห็นว่าไม่สมควรเจาะคอเพราะจะเพียงแค่ยืดอายุขัยท่าน แต่ก็จะทรมานองค์หลวงปู่มากมายแพทย์หลาย ๆ คนพยายามติดต่ออาจารย์หมอที่ชำนาญทางปอดเพื่อให้เดินทางมาถวายการรักษาที่บุรีรัมย์

ประมาณช่วงเที่ยงวันนั้นองค์หลวงปู่ท่านแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่จะละสังขารด้วยการค่อย ๆ ถอนให้เห็นโดยปกติคนที่ป่วยหนัก ค่าต่าง ๆ ที่แสดงถึงความมีชีวิตอยู่อาทิ ความดัน ชีพจร ฯลฯ จะ fluctuateแต่ขององค์หลวงปู่ท่านจะคงที่ ค่อย ๆ ลดลงเป็นลำดับให้เห็นว่าองค์ท่านควบคุมได้ และไม่ประสงค์จะครองสังขารอีกต่อไปคณะศิษยานุศิษย์จึงเตรียมนำองค์ท่านกลับคืนสู่วัด หากแต่ก็ไม่ทัน องค์หลวงปู่ละสังขารจากไปด้วยอาการอันสงบ ในวันที่ 5 เมษายน 2545 เวลา 13.12 น. สิริรวมอายุได้ 83 ปี พรรษา 61 พรรษา ครั้นเมื่อวันที่ 18 พฤศภาคม 2545 ได้รับพระมาหกรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพลิงศพขององค์หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ณ เมรุชั่วคราว วัดป่าเขาน้อย ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธาธี เป็นประธาน และองค์จุดไปพระราชทานเผาสรีระร่างขององค์หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

ภายหลังจากที่ได้พระราชทานเพลิงศพขององค์ท่านแล้ว คณะศิษย์ยานุศิษย์ได้สร้างเจดีย์อนุสรณ์สถานเพื่อบรรจุอัฐบริขาร และอัฐิธาตุขององค์ท่าน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

ตัวอย่างคำสอนหลวงปู่

  1. ความทรงจำจดจำ แม้จะได้สูตรใดสูตรหนึ่งต้องจำได้ ปาฏิโมกข์ควรให้คล่องให้ถูกต้องตามภาษาที่ได้บัญญัติไว้ ชื่อว่าเราได้ศึกษาปริยัติธรรมเช่นเดียวกัน ปริยัติธรรมเป็นหลักของการปฏิบัติ เพราะเป็นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราถือเป็นหลักการปฏิบัติ ถ้าไม่มีหลักสิ่งเหล่านี้แล้วก็ถือว่าเลื่อนลอยไปตามกิเลส ตามอารมณ์ที่มีกิเลสเจือที่จิตใจของเรา เราจะถือเป็นแบบฉบับที่ใจชอบหรือไม่ชอบตามใจของเราไม่ได้ ต้องถือหลักโอวาทศาสนธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาอยู่มาถึงพวกเราเป็นเวลายาวนานก็ต้องมีหลัก อาศัยหลักนี้เป็นเครื่องรองรับหมู่คณะ
  2. พระพุทธเจ้าพระองค์รู้ดี รู้ชอบด้วยพระองค์เองแล้ว พระองค์ได้ทรงสั่งสอนพวกเราทั้งหลายให้ประพฤติตาม
  3. พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงวางไว้ ให้รักษากาย รักษาวาจา รักษาจิตใจ โดยอาศัยหลักศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาอย่าไปดูที่ตัวหนังสือ ความจดจำด้วยสัญญานั้นยังไม่ใช่ ยังเป็นรู้ภายนอก ศีล สมาธิ ปัญญานั้นก็คือการสำรวมกาย รักษากายนี้เอง เราก็ดูที่กาย เราสำรวมแล้วหรือยัง เรียบร้อยหรือยังในตัวเราเอง ในการเข้าสู่สังคมสมาคมเรียบร้อยเป็นระเบียบตามที่พระพุทธเจ้าพาดำเนินมาหรือไม่ ในกาย ในวาจาคำพูดของเรา เรามีสติคุ้มครองรักษา เลือกคำพูดได้สะอาดบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องรู้ตัวเราเอง
  4. ที่เราสวดมนต์ไหว้พระอยู่เสมอ ก็อย่าไหว้แต่วาจา อย่ากราบแต่ด้วยมือ ต้องจิตใจน้อมระลึกถึงความจริงด้วย ให้เกิดขึ้นในจิตใจ ให้มีศรัทธาความผ่องใสในจิตในใจ จะเห็นอานิสงส์ จะได้เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความพากเพียร เกิดสติระลึกคุ้มครองรักษาตัวเรา ให้เป็นผู้หมดจดสะอาดไปถึงสภาพแห่งความบริสุทธิ์ ให้จิตตั้งมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ได้ชื่อว่าเราเจริญรอยตามเป็นสาวกของพระองค์ ผู้เชื่อฟังผู้ทำตามพระองค์ เราเป็นผู้เดินตามพระองค์ต่อๆมา เราเป็นสาวกผู้น้อง ผู้ลูก ผู้หลาน แต่สุดท้ายเดินตามๆกันไป
  5. ถ้าพวกเราพร้อมเพรียงกันรักษาธรรมวินัย แบบฉบับของครูบาอาจารย์ อย่าไปเถลไถลแบบใหม่ๆ แบบเขาว่าโลกเจริญก็เลยลืมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โลกมันเจริญแค่ไหนมันเพียงแค่กามเท่านั้นแหละ ผลที่สุดโรคเอดส์รุมหัวมันหมดแล้ว มันเจริญของโลกนี่ มันจะอัศจรรย์สักเท่าไร ธรรมของเรามันอัศจรรย์จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้หมู่พวกเชื่อในธรรมในวินัย
  6. ขอให้หมู่พวกลูกหลานทุกคนที่บวชเข้ามานี้ อย่าไปมุ่งหวังว่าให้โยมเขามีศรัทธาให้คนนั้นมีศรัทธา ไม่ต้อง ขอให้เรามีศรัทธาคนเดียว ให้ปฏิบัติจริงทำจริง ยังไม่ต้องมองคนอื่นให้มองตัวเรา พระพุทธเจ้าพระองค์ก็มองพระองค์ก่อน พระองค์ไม่ได้วิ่งไปสอนโลกก่อน พระองค์สอนพระองค์จนเสร็จกิจแล้ว พระองค์จึงสอนคนอื่น
  7. เหมือนกับหลวงปู่มั่น ผมไปดูไปอยู่ใกล้ชิดแล้ว ท่านไม่ค่อยเอาใจใส่เรื่องญาติโยมสักเท่าไร ท่านเอาใจใส่พระเราสามเณรของเรา ถ้าเราดีแล้วโยมเขาก็ดีด้วย ท่านพูดอย่างนั้นนะ ผมจำชัดจริงๆ
  8. สัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยศีล สมาธิ ปัญญา แล้วยังผ่องใสสดใสบริสุทธิ์ไม่เสื่อมสูญอันตรธาน แต่จิตใจของเรานี่แหละไม่ฉลาด ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่จิตใจของเรา ยังเถลไถลยังอนุโลมไปตามอารมณ์ จิตใจของเราที่ผสมกับกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ ง่วงเหงาหาวนอน ฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉาในจิตในใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องที่ผสมในจิตใจของเรา ด้วยมองเห็นพระสัทธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าไม่แจ้งชัด เราเถลไถลอยู่ เราจึงไม่สามารถที่จะข้ามแม่น้ำอันเต็มไปด้วยอันตราย เพื่อให้พ้นอันตรายเหล่านั้นได้ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เพราะเหตุนั้นเราจึงจำเป็นต้องได้รับความทุกข์ ความเศร้าหมองทางจิตใจอยู่เสมอ
  9. คำสอนพระพุทธเจ้าสอนกิเลสไม่ได้สอนอันอื่น อยู่ที่ไหนก็ชำระที่นั่นปฏิบัติที่นั่น ผมก็ทำตามมาตลอดไม่ได้ลดละ ฉะนั้นขอให้พวกเราช่วยกันตั้งใจปฏิบัติดูแลต่อไป เรื่องธรรมของพวกเราจะต้องช่วยกันทะนุบำรุงรักษา
  10. เพราะฉะนั้นพวกเราตั้งใจปฏิบัติ ใครสงสัยอะไรก็รีบชำระ เรื่องศีล เรื่องอะไรก็รีบชำระ รีบปฏิบัติให้มันเห็นตรง อุชุปฏิปันโนจริงๆ อย่าทำเหลาะแหละเหลวไหลโลเล
  11. ได้โอกาสดีแล้วทุกองค์อยู่ที่ไหนก็ขอร้องพวกเราทุกๆคน ให้เร่งทำความเพียรอย่าไปยุ่งกับญาติกับโยมมากนัก อย่าไปยุ่งกับอย่างอื่น พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ของเราท่านได้กำลังมา ได้สอนพวกเรามา ไม่ได้ไปยุ่งกับโยมชาวบ้านมากนะ ท่านเด็ดเดี่ยว เมื่อท่านทำกิจกำลังท่านพอแล้ว ท่านจึงมาทำ ที่เราเห็นภายหลังที่ท่านได้ฉันดี นอนดี อยู่ดี อันนี้มันเรื่องเปลือก ไม่ใช่เรื่องแก่น ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องสนใจ สนใจแต่ทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน เฉพาะในจิตในใจเฉพาะ มันไม่ใช่มากนะอันเรื่องที่จะพ้นทุกข์นี่
  12. พวกเราทั้งหลาย ถ้าหากว่าพอจะมีบุญวาสนา มีศรัทธาอยู่ในจิตเป็นกองทุนแล้ว ก็พยายามสร้างศรัทธากับวิริยะความพากเพียร ปัญญาขึ้นมา คู่นี้แหละที่ปฏิบัติ ผมจะอยู่อเมริกาก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม ธรรมะเท่านี้แหละ พลังนี้แหละเป็นตัวสำคัญ
  13. อยากให้หมู่พวกทั้งหลายที่ได้บวชเข้ามาแล้วน่ะต้องเร่งความเพียร ไม่ต้องทำอะไรที่ไหนล่ะ ดูกายกับจิตนี้ ผมก็ทำตามแบบครูบาอาจารย์สอนนี้เอง แต่ความที่เราพูดเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราเป็นผู้รู้คนเดียวนะ มันยังรู้ว่าครูบาอาจารย์ของเราก็พ้นทุกข์ไปมากแล้ว
  14. หลวงปู่ฝั้นนี่ท่านพ้นแล้วนะ มันเชื่อนะ เราโง่เราไม่รู้ ครูบาอาจารย์ของเรานี่ ผู้ปฏิบัติจริงๆ ถึงท่านไม่พูดนี่ ไม่จำเป็นจะต้องพูด มันหมดสิ้นสุดในกิจ มันรู้บอกในขณะนั้นว่ากิจที่จะต้องทำอีกเสร็จสิ้นแล้ว
  15. บางองค์ที่ท่านรู้ท่านรู้จริง แต่บางองค์ที่ท่านไม่บัญญัติมาพูด ไม่ได้ตั้งมาพูดมันรู้เลย อย่างหลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน ครูบาอาจาย์ที่ท่านไม่พูด นึกว่าท่านไม่พ้นไม่ใช่นะ ไม่ใช่ว่าท่านไม่ได้อะไร บางคนไปเห็นนึกว่าท่านไม่เทศน์ไม่สอน นึกว่าท่านไม่เก่งเหมือนตัวเอง บาปกินไม่รู้ตัว
  16. ปัญญาเรานะมันไปไม่ได้นะ เราต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันต้องยึดหลักพระองค์แล้วก็เร่งทำความเพียร เพราะทำแล้วจะต้องรู้ นอกจากพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารที่เราใกล้ชิดที่เห็นปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันผมก็ยึดหลวงปู่บ้านตาด เพราะนิสัยชอบท่านมาก การพิจารณาการพลิกแพลงอะไรต่างๆ นิสัยเราชอบหลวงปู่บ้านตาดกับหลวงปู่ฝั้นเหมือนกันนะ แต่ผมเสียอันหนึ่งที่มันไม่อดทนในญาติโยมเหมือนท่านเท่านั้นแหละ แต่เรื่องพลิกแพลงสติปัญญาที่ท่านแนะนำมาน่ะผมชอบ
  17. พูดให้หมู่เพื่อนฟังก็อยากให้หมู่ใครคนใด ประสบเหตุการณ์อย่างไร ขอให้บอกให้เล่าให้ฟังเพื่อจะได้เป็นพยานขึ้นมา หรือถ้าหากว่าหมู่พวกทุกองค์เร่งทำความเพียรไม่เหลวไหล และศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เฉพาะศีล สมาธิ ปัญญา ต้องพ้นทุกข์แน่นอน ขอให้พวกเราพยายาม
  18. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ตรัสว่าพระองค์ได้ตรัสรูแล้ว ทีนี้พอพระองค์สอนอัญญาโกณฑัญญะก็ได้บรรลุธรรม แน่ะมันเป็นพยานแล้วทีนี้
  19. ใครสงสัยอะไรก็ถามได้ บางทีตอบให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็แล้วไป บางทีก็คิดไม่ออก แต่หลวงปู่มั่นท่านท้าทายนะ เอ้า..สงสัยตรงไหนถามมา ท่านก็พูดเผงๆตรงๆไปเลย หลวงปู่มั่นน่ะ
  20. ไปอยู่อเมริกาได้ทำความเพียรต่อเนื่องกันประจำ ทางจงกรมกับกุฏิก็อยู่ใกล้กันได้ทำตลอด อากาศก็ดีมันสัปปายะอันหนึ่ง แต่สำคัญว่าจิตของเราอย่าไปหลงความเจริญของบ้านเมืองของเขา ถ้าไปเอาอันนั้นมานี้แล้วเสร็จ ธรรมหายไปหมดเลย แต่จิตใจของคนมันไม่อัศจรรย์เลย แม้แต่เขาจะวิเศษอย่างไรมันไม่อัศจรรย์เลย อัศจรรย์แต่พระพุทธเจ้า ธรรมของพระองค์สามารถที่จะพ้นทุกข์ ความสุขจนขนาดที่เทวดานี่พระองค์ยังเห็นโทษ ขนาดนั่งฌานสงบ ที่เรานั่งสงบมีความสุข พอใจในความสุขอันนั้นแต่พระองค์ก็ยังเห็นโทษ
  21. ท่านสอนกรรมฐานว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้มัวเมาในวัย ไม่มัวเมาในชีวิต ไม่มัวเมาในความไม่เป็นโรค ไม่มัวเมาในความเป็นอยู่ ให้รู้สภาพตามความเป็นจริง ตัวของเรานี้คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นของชำรุดทรุดโทรมคร่ำคร่าเปลื่อยเน่า ใครจะมากราบความเปลื่อยเน่าสักการะบูชาอันนี้ ใครจะบูชาสิ่งไหนนี้เราต้องกำหนดรู้ให้เห็นชัด
  22. ที่เขากราบไหว้บูชาสักการะเวลานี้ ก็เพราะบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เรามาอยู่อาศัยบารมีของท่าน เรายึดหลักของท่าน เหมือนกับกาไปยึดหลักภูเขาทอง เวลาเขามองไปแล้วตัวกาก็เป็นทองไปด้วย เมื่อตราบใดกายังจับภูเขาทองอยู่นั้น เขาก็มองเห็นเป็นทองอยู่อย่างนั้น ถ้าทอดทิ้งภูเขาทองบินไปตามลำพังแล้ว มันก็เป็นกาดำๆ ดีๆ นี่แหละ
  23. แต่เราอย่าลืมว่าเราเป็นตัวกา อย่าไปเข้าใจว่าตัวเราเป็นทองทั้งตัว อาศัยภูเขาทองอยู่ เรายึดภูเขาทองเฉยๆ นี่รูปเปรียบฉันใด ตัวเราเองต้องพิจารณาตัวเราเอง
  24. คำสอนพระพุทธเจ้าก็เป็นคำสอนพระพุทธเจ้าที่เราได้อาศัย ส่วนกาคือเรา ก็เป็นกาเปลื่อยเน่าผุพังเหมือนกับคนธรรมดา ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนของธรรมดา ทำไมเขาจึงกราบไหว้ ทำไมเขาถึงบูชา เพราะเงาของภูเขาทองนี่เอง เพราะอานุภาพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นเราควรกราบ ควรไหว้ ควรปฏิบัติ
  25. อย่าเข้าใจอย่าหลงลืมตัวเองว่าเรามีผู้กราบไหว้สักการะบูชา เขาได้ทำบุญให้ทาน เราได้รู้จักคนมาก แต่คนนับถือก็ให้อุปการะเลี้ยงดูเรา เลยไปถือตัวเราเองเป็นเกณฑ์ ใช้ไม่ได้ แม้ว่าคนไม่รู้ความจริงของเรา เขาก็ยังหลงใหลอยู่ มีตัวอย่างมากต่อมากแล้ว เอาตัวเองเป็นอุปมาแล้ว ยังพยายามปฏิบัติให้คนรักให้คนชอบ ให้คนนับถือ ไม่ได้แก้ไขจิตใจของตนเองให้เป็นตามคำสอนพระพุทธเจ้า โดยความถูกต้องหรือโดยความชอบ ผลที่สุดก็ถูกทอดทิ้ง ถูกขจัดออก อยู่กับหมู่คณะไม่ได้ ถูกประณามถูกลงโทษ ด้วยความสำคัญตัวเองผิด มัวเมาหลงตัวเองผิด เราต้องพิจารณา
  26. ขอให้เราทั้งหลายพึงมีสมณสัญญา ความระลึกหมายว่าเราเป็นสมณะผู้ปฏิบัติผู้สงบ อยู่ที่ไหนให้สงบ เป็นหัวหน้าด้วยความสงบ เป็นหัวหน้าในความเพียร เป็นหัวหน้าในการเดินจงกรม ไม่เป็นหัวหน้าใครก็เป็นหัวหน้าจิตใจของเรา เป็นความเพียรในจิตใจของเรา ความขยันในจิตใจของเรา ความสงบในจิตใจของเรา ให้ระลึกตัวเราอยู่เสมอ ให้รักตัวของเราเป็นที่รัก เราจะต้องรักษาตัวเราให้ดี อย่าปล่อยให้สมกับเรารักตัวของเรา ที่พระพุทธเจ้าว่า ถ้าตัวเราเป็นที่รักของเราแล้ว เราก็มุ่งรักษาเราให้บริสุทธิ์หมดจดสะอาด อย่าไปทำความชั่วอันสกปรกแก่ตัวของเราเอง 
  27. เพราะฉะนั้นทุกท่าน เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วจดจำไว้ให้ดี ตั้งใจประกอบความพากความเพียร ทั้งกลางวันและกลางคืนให้ได้รู้ธรรม ถึงธรรม เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้พาพบเห็นมาแล้ว ได้เห็นตามพระองค์ เราก็จะได้ความสุขความเจริญ 

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *