การแก้กรรมล้างบาปในพระพุทธศาสนา

(คัดลอกจาก..งานวิจัยของ..พระมหาประเสริฐ   มนฺตเสวี/คำชี้แจงจากเว็บวัดคอนคอร์ด-บทความนี้เป็นมุมมองทางวิชาการ ที่มีพื้นฐานจากความหมายที่ต่างกันของคำว่า’บาป (Sin)’ ทางศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ และการเทียบเคียงความหมายตามคำสอนทางปริยัติที่ท้าทายความคิด ดังนั้นอาจมีบางอย่างที่ไม่ตรงตามการตีความโดยทั่วไป)

    ชาวพุทธหลายคนมีความเชื่อฝังใจว่า การล้างบาปไม่มีในพุทธศาสนาอย่างแน่นอน บุญและบาปนำมาลบล้างกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด โดยยึดแนวคิดว่า การล้างบาปก็คือการสารภาพความผิดแล้วบาปทั้งหมดก็จะหลุดหายไปอย่างที่ทำกันในศาสนาคริสต์ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าหาได้ทรงปฏิเสธการล้างบาปไม่ พระองค์กลับทรงตรัสย้ำถึงวิธีการล้างบาปที่ถูกต้อง มิใช่เพียงแค่ปากพูด หรืออาบ น้ำ[1] นั่นคือ ทรงตรัสรับรองว่า บาป สามารถล้างได้โดยการชำระล้างที่กิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดบาปนั้น ๆ อีกทีหนึ่ง..ด้วยมรรคญาณ[2] ซึ่งเป็นการล้างบาปที่แท้จริง ในเรื่องนี้ปรากฏข้อความในพระคัมภีร์มากมาย

    พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทุติยโสเจยยสูตร ปรากฏข้อความว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีกายสะอาด มีวาจาสะอาด มีใจสะอาด ไม่มีอาสวะเป็นผู้สะอาด ถึงพร้อมด้วยความสะอาดบัณฑิตทั้งหลายเรียกว่าเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว[3]

    พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต โธวนสูตร[4] ปรากฏข้อความว่า ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมล้างมิจฉาทิฏฐิได้ ล้างบาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอันมากย่อมถึง ความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย

    พระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย สุตตนิบาต สภิยสูตร[5] ปรากฏข้อความว่า บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอก ในอายตนะทั้งหมด[6] ไม่กลับมาสู่ตัณหาและทิฏฐิ[7]ในเทวดาและมนุษย์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกัป๓ บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ผู้ล้างบาปได้แล้ว

    พระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย เถรคาถา วักกลิเถรคาถา[8] ปรากฏข้อความว่า เราได้เสวยบาป -กรรมที่เราทำไว้ในชาติอื่น ๆ แต่ปางก่อน บัดนี้ เราจะลอยบาปนั้นเสียตรงนี้ เราได้มีความเห็นอย่างนี้มาแต่เดิม เรานั้นครั้นฟังพระวาจาสุภาษิต อันเป็นบทที่ประกอบด้วยเหตุผลแล้ว ก็ได้พิจารณาเห็นเนื้อความตามความเป็นจริง ได้อย่างถ่องแท้ โดยแยบคาย ล้างบาปได้หมดแล้ว เป็นผู้ไม่มีมลทิน หมดจดสะอาด บริสุทธิ์ เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นบุตรพุทธโอรส เราก้าวลงสู่กระแสน้ำคือมรรคอันมีองค์ ๘ ลอยบาปได้หมดแล้ว จึงบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปุณณาเถรีคาถา[9] ปรากฏข้องความว่า “พราหมณ์กล่าวด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า ฉันขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ผู้คงที่ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ฉัน เมื่อก่อน ฉันเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม วันนี้ ฉันเป็นพราหมณ์จริง ฉันได้วิชชา ๓ มีความสวัสดี จบเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว”

    พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส คุหัฏฐกสุตตนิทเทส[10] ปรากฎข้อความว่า บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกายเป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะว่า เป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาป[11]ได้แล้ว


    [1] ดูรายละเอียด ที่มาได้ที่ ม.มู.๑๒/๗๙/๖๘

    พระปุณณาเถรีกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า ใครหนอช่างไม่รู้ มาบอกความนี้แก่ท่านซึ่งไม่รู้ว่า คนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ ถ้าเช่นั้นพวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่น ที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้ คนฆ่าแกะ คนฆ่าสุกร ชาวประมง พรานเนื้อ โจร เพชฌฆาต และคนที่ก่อบาปกรรมอื่นๆ แม้เหล่านั้น ก็จะพึงพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ..ละซิ อ้างอิง..พระสุตตันตปิฏกขุททกนิกาย ปุณณาเถรีคาถา (ไทย)๒๖/๒๔๐/๕๙๔

    [2] บทว่า นินฺหาตปาปก ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นผู้มีบาปอันล้างเสียแล้ว เพราะเป็นผู้ล้างคือ

    ชำระบาปทั้งปวง ที่เกิดขึ้นในอายตนะแม้ทั้งปวงกล่าวคือ ภายในและภายนอก ด้วยสามารถอารมณ์ภายในและภายนอก ด้วยมรรคญาณ อ้างอิง….ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓

    [3] องฺ.ติก.(แปล) ๒๐/๑๒๒/๓๖๘

    [4] องฺ.ทสก.(ไทย)๒๔/๑๐๗/๒๕๐

    [5] ขุ.สุตฺต(ไทย) ๒๕/๕๒๕/๖๒๒

    [6] (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)

    [7] (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓

    [8] ขุ.เถร(ไทย) ๒๖/๓๔๘/๓๙๘

    [9] ขุ.เถรี (ไทย) ๒๖/๒๕๑/๕๙๕

    [10] ขุ.มหา(ไทย)๒๙/๑๔/๗๐ , ขุ.อิติ. ๒๕/๖๗/๒๘๒, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๗

    [11] ล้างบาป หมายถึงล้างบาปด้วยมัคคญาณ (ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *